เอ็มเอสเอ็นเมสเซนเจอร์ (MSN Messenger) เป็นโปรแกรมเมสเซนเจอร์จากไมโครซอฟท์ และเป็นเมสเซนเจอร์ที่นิยมใช้มากที่สุดในประเทศไทย มักถูกเรียกสั้นๆว่า "เอ็มเอสเอ็น"หรือ"เอ็ม" เอ็มเอสเอ็นเมสเซนเจอร์มักถูกเข้าใจว่าเป็นบริการดอตเน็ตเมสเซนเจอร์ (.NET Messenger Service - โพรโทคอลและเซิร์ฟเวอร์ที่อนุญาตให้ระบบจัดการได้) มากกว่าจะเป็นเพียงตัวไคลเอนต์. ไคลเอนต์อีกตัวหนึ่งที่สามารถเข้าใช้บริการดอตเน็ตเมสเซนเจอร์ได้เช่นกัน ก็คือ วินโดวส์เมสเซนเจอร์ (Windows Messenger) เครื่องคอมพิวเตอร์ใดๆที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ใช้วินโดวส์เอกซ์พี และติดตั้งอินเทอร์เน็ตเอกซ์พลอเรอร์ จะสามารถใช้บริการเมสเซนเจอร์ผ่านเว็บที่ชื่อว่า เอ็มเอสเอ็น เว็บเมสเซนเจอร์ (MSN Web Messenger) ได้. เอ็มเอสเอ็นเมสเซนเจอร์ 7.5 เป็นเวอร์ชันล่าสุดที่ไมโครซอฟท์ปล่อยออกมา ในปีพ.ศ. 2549
เอ็มเอสเอ็นเมสเซนเจอร์ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น วินโดวส์ไลฟ์เมสเซนเจอร์ (Windows Live Messenger หรือ WLM) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดบริการออนไลน์ และซอฟต์แวร์ ของ Microsoft's Windows Live
เมื่อเอ็มเอสเอ็นเมสเซนเจอร์ ถูกปล่อยออกมาเป็นครั้งแรก มันมีคุณสมบัติสามารถเข้าไปใช้บริการเครือข่าย AIM ของอเมริกาออนไลน์ได้ ทางอเมริกาออนไลน์ก็ได้พยายามกีดกันไม่ให้ไมโครซอฟท์เข้ามาใช้บริการของตน จนกระทั่งคุณสมบัตินี้ถูกยกเลิกออกไป และไม่มีการนำกลับมาใช้อีก ปัจจุบัน เอ็มเอสเอ็นเมสเซนเจอร์ อนุญาตให้ผู้ใช้เชื่อมต่อไปยังบริการดอตเน็ตเมสเซนเจอร์ได้เท่านั้น โดยผู้ใช้จะต้องมีอีเมลที่มีระบบพาสปอร์ต (Passport) ของไมโครซอฟท์
ประโยชน์หลักของโปรแกรมนี้ก็คือ เป็นโปรแกรมสำหรับสนทนา แม้ว่าจะมีคุณสมบัติอื่นๆอีก เช่น การสนทนาผ่านเสียง, เว็บแคม (เอ็มเอสเอ็นเมสเซนเจอร์ รุ่น 7.0 และรุ่นหลังๆ สนับสนุนการสนทนาผ่านเสียงและภาพแบบเต็มจอ) การแลกเปลี่ยนไฟล์ และสามารถเล่นเกมออนไลน์เช่น เกมทิค-แทค-โทในโปรแกรมได้ นอกจากนี้ ผู้ใช้ยังสามารถเพิ่มสีสันให้ข้อความด้วยการใช้ อีโมติคอน, แฟลชแอนิเมชัน ที่เรียกว่า winks, ภาพแสดงแบบเคลื่อนไหว, การเปลี่ยนรูปแบบข้อความ และลงโปรแกรมเสริมต่างๆ เช่น โปรแกรมMessenger Plus! เป็นต้น
ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2547 ไมโครซอฟท์ได้เปิดบริการ "เว็บเมสเซนเจอร์" ซึ่งทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ใดๆที่มีโปรแกรมเบราว์เซอร์และต่ออินเทอร์เน็ตได้ สามารถเข้ามาใช้บริการเอ็มเอสเอ็นเมสเซนเจอร์ผ่านเว็บเบราว์เซอร์ได้ โดยไม่ต้องลงโปรแกรมไว้ในเครื่องก่อน แต่บริการนี้อนุญาตให้ผู้ใช้สนทนากันได้เท่านั้น
เอ็มเอสเอ็นเมสเซนเจอร์ใช้ โปรโตรคอล Mobile Status Notification (MSNP) บน TCP (และบางครั้งก็ใช้ HTTP เพื่อจัดการกับพร็อกซี่) ในการเชื่อมต่อไปยังบริการดอตเน็ตเมสเซนเจอร์ โดยผ่านพอร์ต 1863 ของ messenger.hotmail.com ปัจจุบันโพรโทคอลนี้ได้พัฒนามาถึงรุ่นที่ 13 แล้ว (MSNP13) ซึ่งเอ็มเอสเอ็นเมสเซนเจอร์ 7.5 และไคลเอนต์อื่นๆก็ใช้โพรโทคอลรุ่นนี้อยู่ โพรโทคอลรุ่นนี้ถูกเปิดเผยเพียงบางส่วนเท่านั้น ไมโครซอฟท์เคยเปิดเผยโพรโทคอลรุ่นที่ 2 (MSNP2) สำหรับนักพัฒนาในปี ค.ศ. 1999 ที่ Internet Draft แต่ไม่เคยเปิดเผยรุ่นที่ 8, 9, 10, 11 หรือ 12 ต่อสาธารณชนเลย บริการดอตเน็ตเมสเซนเจอร์อนุญาตให้ใช้โพรโทคอลรุ่นที่ 8 ขึ้นไปในการเชื่อมต่อเท่านั้น คำสั่งต่างๆในโปรโตรคอลรุ่นที่ 8, 9, 10, 11, 12 จะสามารถรู้ได้โดยใช้โปรแกรมดักจับเช่น Ethereal. MSNP13 จะยังคงใช้เป็นโพรโทคอลใน Windows Live Messenger 8
ไมโครซอฟท์ไม่เปิดเผยโพรโทคอลของเอ็มเอสเอ็นเมสเซนเจอร์ทั้งหมด และก็ได้พยายามไม่ให้ไคลเอนต์อื่นๆสามารถเข้ามาได้ โดยแปลงข้อมูลโดยใช้ฟังก์ชันแบบแฮช อย่างไรก็ตาม ทั้งโพรโทคอลและฟังก์ชันแบบแฮชก็ได้ถูกค้นพบกระบวนการการทำงานของมันแล้ว
ตั้งแต่มีการปล่อยเอ็มเอสเอ็นเมสเซนเจอร์ ดูเหมือนว่าไมโครซอฟท์จะพุ่งเป้าหมายไปที่ผู้ใช้วินโดวส์เท่านั้น โดยใช้ผู้แมคจะไม่สามารถใช้โปรแกรมเอ็มเอสเอ็นเมสเซนเจอร์อย่างเต็มความสามารถได้ เช่น อนุญาตให้สนทนาได้เพียงอย่างเดียว แต่ไม่สามารถใช้เว็บแคม, ลายมือ ได้เป็นต้น บางคนเชื่อว่านี่เป็นหนทางที่จะทำให้ผู้ใช้แมคหันมาใช้วินโดวส์เพราะจะทำให้เขาได้ใช้เอ็มเอสเอ็นเมสเซนเจอร์ตัวเต็ม
เมื่อส่งข้อความที่มีคำว่า "download.php", "gallery.php", "profile.php?", ".scr" โปรแกรมจะตอบกลับมาว่า "Failed to deliver message" หรือข้อความที่ส่งไปก็อาจจะไม่ขึ้นที่หน้าต่างผู้รับ ซึ่งขึ้นอยู่กับรุ่นของไคลเอนต์ที่ใช้
เจตนาของการเซ็นเซอร์นี้คือช่วยป้องกันผู้ใช้จาก ผู้ที่พยายามจะส่ง URLs เพื่อหลอกให้ดาวน์โหลดไวรัสหรือสปายแวร์ไปลง